ข้อควรรู้ในการสร้างบ้านหน้าฝน

ข้อควรรู้ในการสร้างบ้านหน้าฝน

หากจะหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ข้อหนึ่งมาสนับสนุนความคิดที่ว่า ทำไมช่วงเวลาฤกษ์งามยามดีในการลงเสาเอกของบ้านมักจะเป็นช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ก็น่าจะเป็นเพราะว่าหลังจาก ลงเสาเอกในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม การก่อสร้างก็มักจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายนซึ่งเป็นระยะเวลาที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง และย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสะดวกในการทำงาน และมีระยะเวลามากพอที่จะสร้างบ้านให้เสร็จก่อนที่ฤดูฝนปีหน้าจะมาถึง

ฝน ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดในการก่อสร้างหรือต่อเติมบ้าน แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ที่ต้องทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านตอนหน้าฝน เจ้าของบ้านควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหา หรือเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันปัญหาอย่างไรบ้าง ลองไปดูกัน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

1. ปัญหาเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในการทำงาน เมื่อฝนตกจะทำให้สภาพพื้นที่มีความยากลำบากในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
ความยากลำบากในการขนส่ง อาจเกิดปัญหารถติดหล่มและเกิดความล่าช้าขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นต้องประเมินสภาพพื้นดินอยู่ตลอดเวลา ว่าสามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกได้หรือไม่ หากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ที่พื้นดินค่อนข้างอ่อนตัว

เรื่องความสรกปกของถนน เมื่อรถขนส่งวัสดุวิ่งเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างที่เปียกแฉะ ก็จะทำให้มีเศษดินติดล้อรถเป็นจำนวนมาก เราจะต้องเตรียมพื้นที่และน้ำสำหรับฉีดทำความสะอาดเศษดินเหล่านั้นออกให้หมด เพื่อไม่ให้พื้นผิวสัญจรหน้าสถานที่ก่อสร้างสรกปกจนถูกร้องเรียนเอาได้
การอุดตันของระบบการระบายน้ำ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากเศษดินหรือเศษวัสดุในระหว่างการก่อสร้างไหลไปอุดตัน เราควรต้องป้องกันไม่ให้เศษวัสดุไหลลงไปอุดตันอยู่ในระบบท่อระบายน้ำ เพราะมีเศษวัสดุลงไปอุดตันอยู่เป็นจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาในการระบายน้ำในอนาคต

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

2. ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
ปัญหาเรื่องไฟฟ้าในบริเวณก่อสร้าง ควรเลือกพื้นที่ในการติดตั้งคัตเอาท์หรือแผงสวิทซ์ไฟ ให้อยู่ในบริเวณที่ฝนสาดไม่ถึง รวมทั้งไม่ควรวางสายไฟติดกับพื้นดิน ควรตั้งเสาขึ้นมาเพื่อรองรับสายไฟ เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง ไม่ควรทำงานในที่โล่งแจ้งเพราะอาจเสี่ยงอันตรายจากการเกิดฟ้าผ่าขึ้นได้

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

 

3. ปัญหาเรื่องการจัดเก็บวัสดุ
สำหรับปูนซีเมนต์ ห้ามโดนน้ำหรือความชื้นโดยเด็ดขาด ควรทำโรงเรือนชั่วคราว หรือยกพื้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตรและหาวัสดุอย่างเช่น แผ่นพลาสติก หรือผ้าใบคลุมเอาไว้ หากปูนซีเมนต์โดนความชื้นจับตัวเป็นก้อนแข็ง ก็ไม่ควรนำมาใช้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้คอนกรีตที่ผสมจากปูนซีเมนต์ที่จับตัวเป็นก้อนแข็งแล้วนั้นไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

สำหรับเหล็กเส้น หรือเหล็กรูปพรรณ ก็ควรทำโรงเรือนชั่วคราว หรือยกพื้นสูงเพื่อจัดเก็บเช่นเดียวกันกับปูนซีเมนต์ เพราะหากเหล็กถูกความชื้นก็จะเกิดสนิม แต่เมื่อเกิดสนิมขึ้นแล้วหากต้องการนำเหล็กไปใช้งานควรขัดเอาเนื้อสนิมออกให้หมดไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำให้เนื้อเหล็กมีโอกาสเป็นสนิมเพิ่มมากขึ้น

สำหรับหิน และทราย ถึงแม้ว่าสามารถโดนน้ำฝนได้แต่ต้องระวังหินหรือทรายเปื้อนดิน เพราะหากหินหรือทรายเปื้อนดินก็ไม่ควรนำไปใช้ในการผสมคอนกรีตเช่นกัน ควรหาพลาสติกปูรองพื้นให้กับหินหรือทรายเหล่านั้นตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีการขนส่งเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

4. ปัญหาเรื่องการก่อสร้างใต้ดิน
การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานขุดดิน อย่างเช่นการทำฐานราก การทำถังเก็บน้ำใต้ดิน การขุดดินต้องขุดดินเผื่อให้กว้างขึ้นอีกด้านละประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อรองรับดินที่อาจสไลด์ลงมาในหลุมขุด หากหลุมมีความลึกมากกว่า 2 เมตรควรทำคันกั้นดินเพื่อป้องกันดินถล่ม นอกจากนี้ควรทำบ่อซับน้ำเพื่อช่วยรองรับน้ำจากหลุมขุด แล้วใช้เครื่องสูบน้ำช่วยระบายน้ำออกเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง
สำหรับงานเดินระบบท่อในระดับดิน หากอยู่ระหว่างการดำเนินการ ควรหาพลาสติก หรือฝาครอบปลายท่อเพื่อป้องกันเศษดินไหลเข้าไปภายในท่อ

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

เกร็ดความรู้การสร้างบ้านหน้าฝน

5. ปัญหาเรื่องงานทาสี
งานทาสีเป็นอีกงานหนึ่งที่ควรต้องเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้ว่าหากเราจะสามารถหาวันที่มีอากาศดีๆ ได้ในฤดูฝนได้ แต่การทาสีผนังอาคารควรต้องตรวจสอบสภาพของผนังอาคารว่าเปียกหรือมีความชื้นสะสมอยู่ภายในเนื้อวัสดุหรือไม่ เพราะอาจเกิดปัญหาสีโป่งพองและลอกล่อนได้จากความชื้นที่อยู่ในเนื้อวัสดุระเหยตัวออกมา

สำหรับงานเคลือบสีไม้ หรือเคลือบสีเหล็กก็เช่นเดียวกัน หากเป็นไม้ก็ต้องดูให้แน่ใจว่าเนื้อไม้แห้งสนิท หรือหากเป็นเหล็กก็ต้องตรวจและขัดสนิมออกให้หมด ถึงจะสามารถเริ่มลงมือทาสีได้

6. ปัญหาเรื่องราคาค่าก่อสร้าง
ปัญหาเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการขาดแคลนวัสดุ เนื่องจากการผลิตวัสดุอาจทำได้ยากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การผลิตอิฐมอญ ที่จะทำได้ลำบากขึ้นเนื่องจากฝนตก และในบางครั้งก็เป็นผลพวงมาจากความยากลำบากในการขนส่ง

ปัญหาเรื่องค่าแรงในการก่อสร้างที่อาจสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการทำงานที่มีความยากลำบากขึ้น ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าในการพูดคุยและตกลงทำสัญญากับผู้รับเหมาถึงเรื่องการทำงานในช่วงหน้าฝนก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองล่วงหน้าเอาไว้ อาจขอปรึกษาจากสถาปนิกหรือวิศวกรในเรื่องระยะเวลาเพื่อประเมินระยะเวลาของงานที่อาจเกิดความล่าช้า เพื่อจะได้เตรียมงบประมาณสำรองเผื่อไว้

แม้ว่าการทำงานในช่วงฤดูฝนจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่หากเรารู้จักวิธีรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น การสร้างบ้านระหว่างฤดูฝนก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นอะไรนัก ซึ่งขณะนี้ก็เข้าสู่เดือนกรกฎาคมแล้ว สำหรับเจ้าของบ้านท่านใดที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือต่อเติมก็ลองใช้วิธีเหล่านี้เตรียมรับมือกันดูนะครับ