เคล็ดลับแต่งบ้านอย่างไร ให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน

แต่งบ้านให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน – บ้านสวยด้วยมือคุณ

แต่งบ้านให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน

แต่งบ้านให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน

นอกจากการตกแต่งบ้านให้สวยงามน่าอยู่ และรองรับความสบายได้เป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การก้าวตามโลกให้ทันโดยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม รวมถึงการตกแต่งบ้านของคุณให้อยู่ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน

แต่งบ้านให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน

แต่งบ้านให้น่าอยู่และประหยัดพลังงาน

•การตกแต่งบ้านแบบประหยัดพลังงาน ควรเริ่มต้นจากวางผังภายในบ้านแบบเปิดโล่งไม่ปิดกั้นช่องแสง หรือประตูหน้าต่าง เพื่อสร้างบรรยากาศให้โปร่งสบายไม่อับทึบ และมีที่ว่างมากพอให้แสงธรรมชาติลอดผ่าน ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มาก โดยเฉพาะในเวลากลางวันที่แทบจะไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย ถ้าภายในบ้านมีแสงสว่างเพียงพอ

•เลือกเฟอร์นิเจอร์รูปทรงโปร่ง ขนาดไม่เทอะทะ รายละเอียดไม่มากเกินไป หรือมีซอกมุมที่จะสะสมฝุ่นละอองมาตกแต่งบ้าน เพื่อลดภาระในการดูแลทำความสะอาด และควรนำมาจัดวางในตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทางลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ลมพัดผ่านและไม่อับชื้น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมลงได้ และควรระวังการใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่มากเกินไป เพราะจะทำให้ดูรกตาและยิ่งเพิ่มอุณหภูมิความร้อนได้

•ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะกับพื้นที่ โดยก่อนตัดสินใจ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อน เปรียบเทียบขนาด ราคา และคุณสมบัติ เพราะอุปกรณ์แต่ละประเภทจะเหมาะกับแต่ละสถานที่ เช่น โคมไฟที่มีความสว่างมาก-น้อย เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่-เล็กทั้งระบบรวม และแบบแยกส่วนซึ่งจะให้ความเย็นต่างกัน เช่นเดียวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกประเภทประหยัดไฟ และควรคำนึงถึงตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสม ก็จะช่วยในการควบคุมปริมาณการใช้พลังงานได้

•เลือกโทนสีภายในบ้าน สีเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งให้เหมาะกับพื้นที่และการใช้สอย เช่น ห้องพักผ่อนและห้องสมุดที่ต้องการแสงสว่างมาก การใช้โทนสีอ่อนก็จะช่วยกระจายแสงได้ดี หรือถ้าเป็นห้องนอนก็ควรเลือกใช้โทนสีอบอุ่นที่ดูสบายตา โดยอาจเพิ่มแสงไฟเพียงบางจุดแทนการใช้ไฟจำนวนมากให้สิ้นเปลือง เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ที่มีผลต่อความรู้สึก จึงต้องพิจารณาให้ดี เช่น ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์สีเข้มมากในพื้นที่แคบ ๆ หรือควรนำของประดับที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงเงามาใช้ในมุมอับทึบก็ช่วยลวงสายตาได้

•ป้องกันความร้อนจากแสงแดดที่จะส่องถึงบ้านหรือห้องโดยตรง เช่น การเลี่ยงเจาะช่องแสงและหน้าต่างในทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านที่มีปริมาณแสงมากในช่วงบ่ายจนถึงค่ำ แต่ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปรับแก้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ติดฟิล์มและสติกเกอร์กรองแสง ใช้ผ้าม่านหรือมู่ลี่มาลดปริมาณแสงลง และการปรับภูมิทัศน์ด้วยการปลูกต้นไม้บังสายตาและให้ร่มเงาเพิ่มความเย็นได้

•เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุสังเคราะห์แทนไม้จริง การนำวัสดุรีไซเคิลและของเหลือใช้มาตกแต่งบ้าน การเลี่ยงใช้วัสดุที่เก็บความร้อน การปรับแก้มุมที่อับทึบด้วยการใช้กระจกเงา หรือใสแทนการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก การใช้กระจกตัดแสงกับหน้าต่างด้านที่โดนแดดจัด เพื่อลดความร้อนโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้ฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา เพื่อป้องกันความร้อนที่จะเข้ามาในบ้านจากด้านบนแม้จะเป็นเรื่องยาก ถ้ามีเพียงหนึ่งความคิดที่จะเปลี่ยนโลก แต่ถ้าเราทุก ๆ

คนร่วมมือกัน สร้างจิตสำนึกรักษ์โลก และเริ่มต้นที่ตัวเราลงมือทำพร้อม ๆ กัน มันก็ไม่ยากเกินไป มารักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อมกับตกแต่งบ้านแบบประหยัดพลังงานกัน.

 

ขอขอบคุณ นสพ.เดลินิวส์