แสงสว่าง สู่บ้านสวย แนะนำการจัดแสงภายในบ้าน

แสงสว่าง สู่บ้านสวย แนะนำการจัดแสงภายในบ้าน

แสงไฟถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตกแต่งบ้าน นอกจากให้ความสว่างเพื่อการมองเห็นทั่วไปแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านของเราได้อีกด้วย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าแสงที่พอเหมาะกับเราและบ้านของเราเป็นอย่างไร คงต้องลองสังเกตจากลักษณะการใช้งานและความชอบเป็นหลัก เพราะแสงสว่างที่เหมาะสมของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน บางคนชอบแสงสีขาว บางคนชอบแสงสีเหลืองส้ม บางคนชอบห้องที่มีไฟสว่างมาก หรือบางคนชอบห้องที่มืดนิดๆ

แสงสีเหลือง หรือแสงสีขาว
คนที่ชอบแสงสีขาวหรือแสงคูลไวท์ (Cool White) เป็นคนที่ชอบความสว่างมาก ต้องการความชัดเจนสูง สังเกตว่าแสงสีขาวมักใช้กับที่ทำงาน คลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาล
ส่วนคนที่ชอบแสงสีเหลืองหรือสีวอร์มไวท์ (Warm White) จะชอบความสว่างปานกลางไปจนถึงสว่างน้อย สังเกตได้จากโรงแรมหรือรีสอร์ตสี่ดาวขึ้นไปมักใช้หลอดไฟที่ให้แสงสีวอร์มไวท์เพื่อสร้างบรรยากาศแลดูผ่อนคลาย รวมถึงบ้านที่ตกแต่งด้วยไม้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้หรือผนังไม้ แสงสีเหลืองช่วยขับให้สีของไม้ดูสมจริงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสงสว่างและการดำรงชีวิตมนุษย์ โดยแสงสีเหลืองทำให้คนเกิดความผ่อนคลาย ส่วนแสงสีขาวช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ซึ่งเป็นคำตอบว่าทำไมออฟฟิศของเราส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ไฟที่มีแสงสีขาวมากกว่าแสงสีเหลือง
ประเภทหลอดไฟ (ที่ใช้ในบ้าน)

โคมไฟแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือตัวโคมและหลอดไฟซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสว่าง ในท้องตลาดทั่วไปมีหลอดไฟมากมายหลายประเภท แตกต่างกันไปตามฟังก์ชันการใช้งาน แต่หลอดไฟที่ใช้ในบ้านส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นหลอดไฟ 4 ชนิด ดังต่อไปนี้

• หลอดไส้ ให้แสงสีเหลืองส้ม เหมาะกับโคมตกแต่ง ข้อเสียคือหลอดขาดง่าย อายุหลอดสั้น นอกจากให้แสงสว่างแล้ว ยังแผ่ความร้อนออกมาด้วย และกินไฟสูง
• หลอดทังสเตนแฮโลเจน ให้แสงสีวอร์มไวท์ เหมาะกับโคมไฟดาวน์ไลต์แบบฝังฝ้า ข้อเสียคือให้ความสว่างและความร้อนสูง
• หลอดคอมแพ็คฟลูออเรสเซนต์ เป็นหลอดที่ผลิตมาแทนหลอดไส้ ให้ความสว่างเทียบเท่า แต่ให้ความร้อนและกินไฟต่ำกว่า มีอายุการใช้งานสูงกว่าหลอดไส้และหลอดทังสเตนแฮโลเจน มีสีของแสงให้เลือกสามแบบ คือ แสงสีวอร์มไวท์ แสงสีคูลไวท์ และแสงเดย์ไลต์ และมีขั้วหลอดที่ใช้เสียบแทนหลอดไส้ได้เลย
• หลอดแอลอีดี นวัตกรรมล่าสุดของหลอดไฟ ให้ความสว่างใกล้เคียงกับหลอดไฟสามประเภทข้างต้น มีขั้วหลอดที่ออกแบบมาเพื่อใช้เปลี่ยนแทนที่หลอดไฟรุ่นเก่าได้ ข้อดีคือให้ความร้อนและกินไฟต่ำ อายุการใช้งานนานกว่าหลอดประเภทอื่น ข้อเสียคือราคายังค่อนข้างสูงสำหรับการใช้งานในบ้านพักอาศัย

นอกจากตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว การจัดแสงไฟในบ้านยังต้องคำนึงถึงประเภทโคมไฟและหลอดไฟที่มากับโคมนั้นด้วย โคมไฟที่ดีต้องกระจายแสงจากหลอดไฟได้ดี ทำให้ห้องสว่าง โดยไม่จำเป็นต้องใช้โคมไฟจำนวนมาก หากเลือกใช้แสงสว่างให้ถูกที่ถูกทางก็ช่วยประหยัดไฟ ประหยัดเงินในกระเป๋า และยังช่วยลดโลกร้อนไปด้วยในตัว
แสงไฟในบ้านสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. แสงสว่างทั่วไป (General Lighting) คือ แสงที่ให้ความสว่างไปทั่วทั้งบริเวณ เน้นให้ความสว่างเพียงอย่างเดียว ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม แสงสว่างประเภทนี้มักมากับโคมไฟประเภทดาวน์ไลต์ (Downlighting) หรือไฟที่ซ่อนไว้กับหลืบฝ้า (Cove Lighting) หรือบางบ้านอาจมีโคมไฟติดฝ้าเพดาน (โคมซาลาเปา) มากับตัวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นโคมไฟที่ให้แสงสว่างทั่วไปเช่นกัน สำหรับบ้านพักอาศัยหรือห้องชุดที่มีความสูงฝ้าเพดานประมาณ 2.40 -3 เมตร โคมไฟดาวน์ไลต์ควรมีระยะห่างระหว่างโคมประมาณ 2-3 เมตร ถ้าติดโคมที่ระยะต่ำกว่า 2 เมตรถือว่าถี่เกินไป สิ้นเปลืองโคมไฟ สำหรับโคมไฟติดฝ้าเพดาน (โคมซาลาเปา) สามารถติดตั้งที่กลางฝ้าเพดานของห้องขนาด 3 x 3 เมตรโดยให้แสงสว่างทั่วไปที่กำลังดี (ภาพ pts11723-061)
2. แสงสว่างเฉพาะจุด (Accent Lighting) วัตถุประสงค์ของการใช้แสงสว่างเฉพาะจุดก็เพื่อไฮไลต์รูปภาพ งานศิลปะ หรือของตกแต่งต่างๆ เป็นการสร้างบรรยากาศและให้ความสวยงามเป็นหลัก นอกจากนี้การใช้โคมตกแต่ง เช่น โคมตั้งพื้น โคมไฟตั้งโต๊ะ หรือโคมแขวน ยังถือเป็นการให้แสงสว่างเฉพาะจุดที่ช่วยเสริมให้สไตล์การตกแต่งของห้องดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (ภาพ tt100113-024)
3. แสงสว่างเพื่อการใช้งาน (Functional Lighting) จุดประสงค์ก็เพื่อการใช้งานโดยเฉพาะ เช่น โคมไฟสำหรับอ่านหนังสือ หรือโคมไฟบนโต๊ะทำงาน (ภาพห้องทำงาน)
ตัวอย่างผังฝ้าเพดานกับตำแหน่งโคมไฟในห้องต่างๆ
• ส่วนรับแขก มุมนั่งเล่น มุมพักผ่อน (1+2+3)
• ห้องนอน (1+2+3)
• ส่วนรับประทานอาหาร (1+2)
• ห้องน้ำ (1+2)
ความสว่างวัดกันอย่างไร
สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปคงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มาวัดค่าความสว่างของไฟในบ้านแต่อย่างใด สายตาของเรานี่ละคืออุปกรณ์วัดความสว่างที่เหมาะสมที่สุด
ระดับความสว่างของแสงไฟในบ้านแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงกลางวันและกลางคืน ในตอนกลางวัน ห้องที่มีหน้าต่างจะได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติตามปกติอยู่แล้ว สำหรับห้องมีหน้าต่างขนาดใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องเปิดไฟเลย แต่บางห้องที่แสงธรรมชาติเข้าไม่ถึงอาจต้องเปิดไฟช่วย ส่วนตอนกลางคืน แน่นอนว่าไม่มีใครชอบอยู่ในความมืด อย่างน้อยต้องเปิดไฟให้ความสว่างหนึ่งดวง แต่หากไม่เพียงพอก็ต้องเปิดไฟเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เรารู้สึกพอเหมาะ คือ สบายตา และเหมาะสมกับกิจกรรมหรือลักษณะการใช้งานในช่วงเวลานั้นๆ
นอกจากนี้การตกแต่งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสว่างของห้องด้วย ตัวอย่างเช่น ห้องสีขาวหรือมีโทนสีอ่อนมักแลดูสว่างกว่าห้องที่ใช้โทนสีเข้ม โดยเฉพาะวัสดุปูพื้น หากเลือกใช้วัสดุมีสีอ่อนและมีพื้นผิวมันเงา การสะท้อนของแสงจะดีกว่าวัสดุสีเข้มและมีพื้นผิวหยาบ ทำให้ห้องนั้นแลดูสว่างมากกว่าแม้จะให้แสงสว่างในปริมาณเท่ากัน

 

ขอบคุณเนื้อหาดีมีประโยชน์จากบ้านและสวน